วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

ผื่นแพ้และคันเรื้อรัง



โรคผิวหนังชนิดผื่นคัน ฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็กเลยนะถ้าหากต้องเป็นเรื้อรังแรมเดือนแรมปี ไม่หายสักที วันนี้ผมจะขออนุญาตนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเรื่องผื่นคันที่ว่านี้ให้กับท่านผู้อ่าน เผื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกและหายในเร็ววันครับ

โรคผื่นคันมีสองประเภท คือ




  1. ชนิดที่เพิ่งเป็น (ไม่เกินเดือน) ชนิดนี้รักษาไม่ยากถ้าหากไปพบแพทย์หรือเภสัชกรและใช้ยาที่เขาแนะนำ ผมจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ในตอนนี้ อยากจะเล่าถึงเรื่องอีกชนิดหนึ่งมากกว่า


  2. ชนิดที่เป็นเรื้อรัง (ไม่หายเสียที แม้จะผ่านเวลามาหลายเดือนแล้ว) ชนิดที่สองนี้จะต้องมีความรู้ประกอบด้วย คือรู้จักการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ก็อาจจะหายได้ครับ



โรคผื่นคันชนิดเรื้อรัง (Chronic eczema)



คือผื่นที่ขึ้นที่เดียวกันอย่างต่อเนื่อง นานมากกว่า 1 เดือน โดยอาการแรกจะมีน้ำเหลืองไหล หรือเป็นแผลเฟะบริเวณที่คัน หลังจากการรักษาไปบ้าง ก็จะกลายเป็นผิวหนังแห้งๆ แตกเป็นแผล และก็มีน้ำเหลืองออกมาอีก น้ำเหลืองที่ว่านี้จะใสๆ พอแข็งตัวก็จะกลายเป็นสะเก็ดสีเหลืองเข้มปกคลุมแผลอยู่ พอเกาไปเกามาก็กลับเป็นแผลอีกครั้ง



ผื่นคันเรื้อรังนี้มักจะพบได้ในตาม มือ เท้า ไปจนถึงหนังศีรษะ







สาเหตุที่ทำให้ไม่หายสักที


สาเหตุที่มองข้ามไป


ก็คือ สารเคมีที่เราใช้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้น บางคนเป็นผื่นคันมาก ก็นึกว่าตัวเองนั้นสกปรก จึงสรรหาเอาสารพัดน้ำยาทำความสะอาดมาล้างแผลบริเวณนั้น เริ่มจากสบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม บางคนก็ใช้น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงผงซักฟอกเลยก็มี แล้วแค่นั้นก็ยังกลัวไม่สะอาดสมใจ ยังใช้สก๊อตไบรต์ขัดเสียอีกแน่ะ จะได้สะอาดๆ


ก็จริงอยู่ครับว่าแผลมันสะอาด แต่แผลก็ได้รับการกระทบกระเทือนมากเหลือเกินจากการทำแบบนี้ ผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้แผลไม่หาย ไม่ใช่เชื้อโรคหรือความสกปรกหรอก แต่อยู่ที่แผลมันระคายต่อสารเคมี และการทำทารุณกรรมกับมันต่างหาก พอคนไม่รู้ตรงนี้ยิ่งฟอกยิ่งเป็น ยิ่งเป็นยิ่งฟอก ทำให้เกิดวงจรที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น


แนะนำให้ล้างแผลด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว (อย่าแม้แต่จะฟอกสบู่นะครับ) ล้างน้ำเปล่าแล้วเช็ดให้แห้ง ก็พอ อาการอักเสบของแผลอาจจะลดลงไปได้บ้างหากไม่โดนสารเคมี


สิ่งที่ควรทำประการที่สอง


ก็คือ การรักษาความชุ่มชื้นให้กับแผล ยิ่งแผลที่เก่าแก่มากเพียงใด ผิวหนังบริเวณนั้นจะแตกออกมากเพียงนั้น มองๆไปมันเหมือนดินที่แตกระแหงในยามหน้าแล้งนั่นเอง ผิวหนังของคนเราก็เหมือนกัน ขนาดมันดีๆอยู่ มันก็เสียความชุ่มชื้นไปมากโขอยู่แล้ว แต่นี่ถ้าหากมีการแตกออกของผิวหนังอีก ความชุ่มชื้นจะระเหยออกมาจะร่องที่แตกอย่างรวดเร็ว เป็นสิบๆเท่าของปกติเลยล่ะ


เราต้องทำให้บริเวณผิวหนังที่แห้งนั้นมีความชุ่มชื้นมากขึ้น อาจจะใช้โลชั่นทาก็ได้ (แต่ต้องไม่เป็นอันตรายหรือระคายเคืองต่อแผลนะ) บางคนอาจกินวิตามิน A หรือ E เพื่อเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่ที่ผมดูมาและเห็นว่าเด็ดที่สุด คือ การใช้พลาสติกห่อแผลเอาไว้เลยครับ หลักการก็เหมือนใช้พลาสติกคลุมหน้าดิน หรือห่อผลไม้ตามต้นอย่างนั้นแหละครับ ถ้าเป็นแผลแห้งคันเรื้อรังที่เท้า เราก็เอาถุงพลาสติกมาคลุมเท้าไว้ และใส่ถุงเท้าทับไปอีกชั้น (ถ้าเป็นที่มือก็ใช้ถุงมือทับไปอีกชั้น) ทำเฉพาะตอนกลางคืนก็ได้ จะเห็นผลว่าแผลมีความชุ่มชื้นมากขึ้นใน 1-2 วัน


ยาที่ใช้รักษา


เมื่อเราหลีกเลี่ยงของระคาย และสร้างความชุ่มชึ้นให้กับแผลเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงยาล่ะครับ ยาที่ใช้ก็เป็นยาครอบจักรวาลที่ทุกคนรู้จัก ก็คือ TA cream หรือเสตียรอยด์ครีม นั่นเอง ท่านผู้อ่านได้ยินชื่อแล้วอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีครับ อันว่าเสตียรอยด์นี้มีชื่อเสียงที่ไม่ดีเรื่องผลข้างเคียงของมัน แต่ถ้าหากเป็นยาทาใช้ภายนอก ผลเสียของมันก็น้อยมาก (ยกเว้นเอาไปทาหน้านะครับ) ท่านผู้อ่านไปปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านได้เลยครับ เพื่อให้คุณหมอเขายืนยันประโยชน์ของมันในการรักษาแผลเรื้อรังชนิดนี้


สาเหตุที่ควรหลีกเลี่ยง ท่านลองสังเกตดูว่าท่านได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่




  • สารเคมีต่างๆ ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ดินผสมสำหรับปลูกต้นไม้ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน หมึกพิมพ์ น้ำมัน ปูน ฯลฯ


  • สารชีวภาพ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ต้นไม้ ใบไม้บางชนิด เศษหญ้า น้ำหอม


  • เครื่องแต่งกาย บางคนแพ้สร้อยคอ สายเข็มขัด นาฬิกา ไปจนถึงยาง เช่นถุงมือยาง รองเท้ายาง สายรองเท้าแตะแบบหนีบ บางคนใส่เสื้อผ้าบางชนิดแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้น


ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านลองสังเกตดูครับ ว่าเราแพ้อะไร ทำอะไรแล้วเป็นมากขึ้น อะไรทำแล้วแพ้น้อยลง ลองใช้วิธีแบบที่ผมกล่าวมาเป็นการทดลองเอาก็ได้ครับ ว่าจะได้ผลหรือไม่ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2552

อาหารเป็นพิษ

สำหรับบทความแรกของปี ก็จะขอพูดถึงเรื่อง "อาหารเป็นพิษ" ก็แล้วกันนะครับ เพื่อให้เกิดความเข้ากันกับเทศกาลปีใหม่ ที่เรามักจะกินเลี้ยงกันอย่างอิ่มหนำสำราญ หากใครโชคไม่ดีเกิดอาการอาหารเป็นพิษขึ้นมาล่ะก็ เทศกาลรื่นเริงสำหรับคนอื่นคงไม่สนุกนักสำหรับเขา เนื่องจากป่วยอยู่ จึงต้องนั่งดูคนอื่นสนุกกันตาปริบๆ เนื่องจากผะอืดผะอมและท้องเสียจู๊ดๆไม่มีเรี่ยวแรง นั่นเอง

อาหารเป็นพิษเกิดได้อย่างไร?


อาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อโรค และพิษของสารปนเปื้อนในอาหาร เมื่อเรากินสารพิษเหล่านั้นไป (โดยไม่รู้ตัว) ก็จะเกิดอาการขึ้นมาทีเดียวเชียวแหละ ถ้าหากเป็นอาหารที่มีพิษมากอยู่แล้ว อาการจะเกิดภายใน 10-20 นาทีหลังรับประทานเข้าไป แต่ถ้าหากเป็นอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนเล็กน้อย กว่าเชื้อจะฟักตัวจนทำให้เราป่วยก็อาจจะกินเวลา 3-10 ชั่วโมงไปโน่นแหละครับ ดังนั้นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ อาจจะไม่ได้เกิดจากมื้ออาหารล่าสุด แต่อาจเกิดจากมื้อก่อนๆโน้นก็เป็นได้

อาการที่พบกันบ่อยๆก็มีอยู่ 2 ระบบ


1. กระเพาะลำไส้ - จะเกิดอาการระคายเคืองขึ้นมา เมื่ออวัยวะเหล่านี้เจออาหารเป็นพิษ มันจะพยายามบีบตัว เพื่อไล่อาหารพิษเหล่านี้ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด ถ้าบีบขึ้นข้างบนก็จะทำให้เราอาเจียน คลื่นไส้ ถ้าบีบลงด้านล่างก็จะทำให้ถ่ายเหลวออกมา อาการเหล่านี้จะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความแรงของพิษครับ ในผู้ป่วยบางคนลำไส้บีบตัวแรงมาก ทำให้ปวดท้องจริงๆ (ไส้บิด) นี่ก็อาการหนัก ในผู้ป่วยบางคนอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้เลย อ่อนเพลียละเหี่ยใจ นี่ก็อาการหนัก ในบางคนท้องเสียไม่ยอมหยุด เรียกว่านอนเฝ้าหน้าห้องน้ำกันเลย ถ่ายจนหมดตัว เกิดอาการขาดน้ำหน้ามืด และเป็นลม ในบางคนที่โชคร้ายเป็นดังที่กล่าวมาทั้งหมด สามประการ อันนี้เกินความทนทานของมนุษย์จะรับไหว (ส่วนใหญ่เหล่านี้จะโดนหามเข้าส่งโรงพยาบาล ในที่สุด)


2. อาการอื่นๆจากพิษ ผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวด้วย บางคนปวดหัว (ยิ่งอาเจียนแรงยิ่งปวดหัวกันไปใหญ่) บางคนมือเท้าอ่อนแรงไป อาจเกิดจากพิษหรืออาเจียน+ถ่ายมากเสียจนเพลีย เสียเกลือแร่มากไป



อาหารเป็นพิษถึงตายได้ถ้าไม่รู้จักดูแล


- สาเหตุที่ทำให้ผู้คนถึงแก่ความตายมากที่สุดก็คือ การขาดเกลือแร่ และการขาดน้ำ เมื่อเราอาเจียนและถ่ายออกไป เราไม่ได้ถ่ายออกแต่น้ำ เรายังเสียเกลือแร่ที่จำเป็นออกไปอีกด้วย หลายๆคนเพลียมาก กินน้ำเท่าไรก็ไม่หาย ยิ่งกินยิ่งเพลีย นั่นก็เพราะเราอาจจะลืมนึกถึงเกลือแร่ไปครับ สมัยนี้เกลือแร่ตามร้านสะดวกซื้อมีขายมากมาย เอามาชงกินเยอะก็พอจะช่วยตรงจุดนี้ไปได้ แต่ถ้าหากอยากจะลองทำน้ำเกลือแร่ดูเองก็ไม่ยากครับ (เงินทองไม่รั่วไหล แถมยังได้ความภูมิใจ) วิธีคือ ใช้น้ำสะอาด 1 ขวดแม่โขง ต้มกับน้ำตาลและเกลือ อัตราส่วนก็คือ เราใช้ช้อนกลาง (ช้อนสั้นที่ใช้ตักแกงน่ะนะครับ) น้ำตาลทราย 1 ช้อนใช้ด้านหน้าช้อนตักตามปกติ และเกลือแกง (เกลือป่น) เอาหางช้อนตักเอา 1 ครั้งครับ เท่านี้เราก็จะได้น้ำเกลือแร่มากินกันแล้ว



- สาเหตุที่ทำให้เรื่องอาหารเป็นพิษกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาไม่ถูกวิธี บางคนเมื่อท้องเสีย ก็ไปหายาที่บังคับลำไส้ให้หยุดถ่ายมากิน เมื่อลำไส้มันโดนบังคับให้หยุด มันก็ต้องหยุดล่ะ แต่ปัญหาก็คือเชื้อโรคที่อยู่ข้างในน่ะสิ จากที่มันควรจะต้องถูกถ่ายออกไป แต่เราไปหยุดเขาไว้ ดังนั้นเชื้อโรคจะขยายตัว แพร่พันธ์จนเต็มลำไส้เลยทีเดียว ถ้าถึงขั้นนี้เชื้อจะลุกลามเข้ากระแสเลือด และทำให้ถึงตายได้ง่ายๆครับ ดังนั้นเราควรจะยอมถ่ายออกไปบ้างเพื่อให้เชื้อออกไปจากตัวเรา

ทำอย่างไรให้หายไว?
โดยทั่วไปเราก็ไปพบหมอนั่นเอง จะได้หายไวๆหน่อย หมออาจจะจ่ายยามาเพื่อบรรเทาอาการอาเจียน บรรเทาอาการปวดท้อง อาจจะจ่ายถ่านอัดเม็ดมาเพื่อดูดซับพิษออกจากลำไส้ ในรายที่ถ่ายมีกลิ่นคาว + เน่า + มีมูกๆปน แสดงว่าเชื้อโรคค่อนข้างแรง จะต้องใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย

ข้อคิดหนึ่งที่จะทำให้หายไวขึ้นก็คือ ต้องรู้จักร่างกายของตน บางคนท้องเสียแล้วไม่ยอมหายเสียที เนื่องจากพี่ยังกินอาหารเข้าไปไม่หยุดยั้งให้ลำไส้ได้พักเลย ลำไส้จึงประท้วงด้วยการถ่ายอาหารเหล่านั้นออกมาอีก (ชนิดที่เรียกว่ากินอย่างไร ถ่ายออกมาอย่างนั้นเลยล่ะ) การกินอาหารในช่วงเวลาที่กระเพาะลำไส้ปั่นป่วนจึงไม่บังควรทำ เราต้องการให้ลำไส้ได้พักผ่อน รีดเอาของสกปรกในลำไส้ออกมาให้หมด (ทำให้ไส้แห้ง) ลำไส้จะตั้งตัวใหม่ได้ใน 1-2 วัน เชื้อโรคเองในเมื่อไม่มีอาหารในลำไส้เหลือให้เขาเกาะ เขาก็อยู่ไม่ได้ ต้องบ๊ายบายจากร่างกายเราไปอย่างรวดเร็ว



คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่เหมาะกับตอนท้องเสีย ก็คือ อย่าเพิ่งกินอาหารหนักๆ ให้เริ่มอาหารพวกน้ำๆก่อน เช่น น้ำซุป โอวัลติน น้ำหวาน (ห้ามกินนมวัวนะครับ มันย่อยยาก ถ้าจะกินนมให้กินนมถั่วเหลืองจะดีกว่า) หลังจากที่ลำไส้เริ่มดีขึ้น เริ่มหิวๆขึ้นมาหน่อย เราก็เริ่มกินข้าวต้ม หรือโจ๊ก ไม่ต้องใส่หมู ใส่แต่ซีอิ๊วก็พอครับ เมื่อลำไส้ฟื้นเต็มที่จึงหันไปกินอาหารตามปกติ


อาหารเป็นพิษป้องกันได้อย่างไร?
เราต้องพยายามรู้ให้ได้ว่า อาหารไหนทำท่าจะมีพิษ ถ้ารู้ได้หมดก็คงไม่เป็น คนบางคนความรู้สึกไว กินอะไรที่ไม่สดหน่อยก็จะรู้สึกได้ (คนประเภทนี้จะไหวตัวทัน และไม่ค่อยป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ) แต่อาหารบางอย่างก็สังเกตยาก ผมพยายามรวบรวมเอามาให้พิจารณากันนะครับ ข้อคิดคือ อาหารที่เราไม่แน่ใจ 50-50 (50 เสีย 50 ยังน่าจะกินได้) ผมแนะนำว่าอย่าไปเสียดายเลย ถ้าสงสัยตั้งครึ่งนึงแล้ว ก็ควรที่จะทิ้งไปเสีย ดีกว่ามานั่งทุกข์ทรมานจากอาหารเป็นพิษครับ
- ขนมปัง แป้ง ที่ขึ้นรา บางครั้งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงควรดูวันหมดอายุเป็นสำคัญครับ
- อาหารกระป๋องที่บวม หรือ บุบ (อันนี้ไม่ต้องบอกก็คงไม่มีใครกินล่ะนะ)
- ผักต้องล้างให้สะอาด เพราะอาจมียาฆ่าแมลง ผักใบสวยๆนี่แหละดีนักแล ยาฆ่าแมลงเยอะครับ
- อาหารพวกเนื้อสัตว์ พยายามอย่ากินอาหารดิบๆ เช่นเนื้อย่าง ไก่ย่างที่ยังแดงๆอยู่เลย ยกเว้นแฟนพันธ์แท้ ที่ต้องกินเสต็กแบบ medium-rare อันนี้ก็ต้องดูร้านอาหารด้วยว่าเชื่อใจได้หรือเปล่าครับ
- อาหารทะเล พวกนี้เสียง่าย และมักมีพิษถ้าเรากินไม่เป็น เช่น หอยแมลงภู่ จะมีหนวดพิษอยู่ ถ้าเรากินเข้าไปก็คงจะป่วย ไปจนถึงกุ้ง (กุ้งมีขี้อยู่บนหัวนะ ต้องดึงออกก่อน บางคนหลงคิดว่าคือมันกุ้ง แต่จริงๆแล้วคือขี้กุ้งครับ) อาหารทะเลเสียง่ายจริงๆ จึงต้องเลือกเอาที่พึ่งนึ่งกันสดๆ เป็นๆ (ไม่ได้สนับสนุนให้ทำบาปนะครับ)
- อาหารค้างคืน ของบ้านเราเองนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค เพราะความใกล้ชิดทำให้ชะล่าใจ
- น้ำแข็ง ใครไปดูกระบวนการผลิต โดยเฉพาะน้ำแข็งป่น น้ำแข็งทุบ จะเห็นได้ว่ามันค่อนข้างสกปรก ถ้าเป็นไปได้พยายามกินน้ำแข็งหลอด ยูนิตดีกว่า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็กินแต่น้อย (ไม่ใช่กินน้ำจนหมดแก้วแล้วยังนั่งเคี้ยวน้ำแข็งดังกรอบๆ นอกจากจะถูกมองจากคนรอบข้างแล้ว ยังอาจจะรับเชื้อโรคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว)

เรื่องราวว่าด้วยเรื่องอาหารเป็นพิษก็มีเท่านี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยครับ