วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหัว

เรื่องปวดหัวเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องเคยเป็น

พอพูดถึงเรื่องปวดหัวแล้วผมคิดถึงว่า
ปวดธรรมดาพอรำคาญหรือปวดมากทุรนทุรายต้องไปหาหมอที่ รพ.
เป็นเรื่องที่อยู่ในกระโหลกศีรษะ ตรวจเจออาการแสดงยาก
ส่วนใหญ่พวกหมอก็จะใช้วิธีซักประวัติกันเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อวินิจฉัยโรค

เราในฐานะคนธรรมดาๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนปวดอันตราย อันไหนพอรักษาเองได้
ส่วนใหญ่ถ้าปวดแล้วกินยา paracetamol 2 เม็ดหาย ก็ไม่ค่อยจะอันตรายเท่าไร
แต่ถ้ากินยาแล้วเท่าไรก็ไม่หายปวดสักที อันนี้น่าไปพบหมอ

อยากให้ทราบอาการเตือนว่าที่ปวดหัวนี้เป็นปวดหัวไม่ธรรมดา
- ปวดหัวจนอาเจียน
- ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
- คอแข็ง ก้มศีรษะลงไม่ได้
- ซึมลง หมดสติ
- ปวดมากอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อนเลย

เราแบ่งการปวดออกเป็นตามสาเหตุการปวด

ปวดศีรษะไมเกรน เป็นชื่อที่คนคุ้นหูกันดี แต่นำไปใช้ผิดเยอะ เพราะน้อยคนนักที่จะป่วยเป็นปวดไมเกรน เกิดจากเส้นเลือด+เส้นประสาทที่เลี้ยงสมองเกิดอาการปวดขึ้นมา และเหนี่ยวนำให้เส้นประสาทข้างเคียงปวดตามกันมาด้วย อาการปวดแบบนี้จะปวดมากสุดๆ ปวดจนต้องนอนนิ่งๆ ถ้าเจอเสียงดัง แสงสว่างมากๆ จะยิ่งปวดใหญ่เลย ปวดมากจนทำงานการไม่ได้ แต่ก็มีข้อดีคือ บทจะหาย ก็หายเป็นปลิดทิ้งไปเลย (ปวดมาก กับ ไม่ปวดเลย) พวกนี้จะปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจร บางครั้งปวดข้างเดียว บางครั้งก็ปวดทั้งสองข้างพร้อมๆกัน (ดังนั้น ปวดไมเกรนจึงไม่จำเป็นต้องปวดข้างเดียวเสมอไป) ก่อนปวดบางครั้งจะรู้สึกเห็นแสงวูบวาบ เห็นดาวเห็นเดือน ได้กลิ่นแปลกๆ รู้สึกสภาพแวดล้อมหดขยายผิดปกติ(aura) นำมาก่อน

ปวดจากเนื้อสมองเอง อันนี้รวมไปถึงเยื่อหุ้มสมอง และน้ำไขสันหลังที่มาหล่อเลี้ยงสมองด้วย อันนี้เป็นอะไรที่หลายคนกลัวกันมาก เพราะนึกไปว่าการปวดหัวของเราอาจจะเป็นโรคร้ายเหล่านี้ เดี๋ยวผมเล่าอาการของโรคในกลุ่มนี้ให้ฟังครับ จะได้สังเกตกันอย่างถูกต้อง
กลุ่มโรคที่น่ากังวลก็คือเลือดออกในสมอง เลือดออกที่เยื่อหุ้มสมอง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระแทก หรือ เส้นเลือดแตกจากความดัน ไขมันสูง โรคติดเชื้อเช่นติดเชื้อในสมอง ในน้ำไขสันหลัง ไปจนถึงโรคมะเร็งในสมองเป็นต้น ในโรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวมาก ปวดจนอาเจียน (ให้สังเกตว่าไม่ใช่อาเจียนแบบทารกแหวะนม แต่เป็นอาเจียนพุ่งเป็นลำ) มองเห็นภาพซ้อน สติเลอะเลือน ปวดหัวคอแข็งไปหมด ไม่สามารถก้มหัวลงได้ คางไม่ชิดหน้าอก หากไปตรวจความดันก็จะพบว่าความดันสูงขึ้นมาก 180-200 มิลลิเมตรปรอทเชียว

ปวดจากกล้ามเนื้อศีรษะตึงตัว คนเราทุกคนมีกล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อรอบๆศีรษะ บางครั้งเจ้ากล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดการเกร็งตัวขึ้นมาก็จะทำให้เรารู้สึกปวดหัวได้ พวกนี้อย่างที่ผมเรียนก็คือ สามารถหายได้ง่ายจากการกินยาพาราแก้ปวด หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อ เพียงแต่ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างเรื้อรัง เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเป็นใหม่อีกแล้ว สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวก็คือ "ความเครียดของร่างกายและจิตใจ"

โดยทั่วไปโรคเหล่านี้จะไม่เป็นตอนที่เราเพิ่งตื่นนอนใหม่ๆ เพราะว่าเป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่งผ่านการพักผ่อนมาเต็มที่ ไม่เครียด แต่จะไปปวดเอาตอนที่เริ่มทำงานหรือเผชิญความเครียดต่างๆบนท้องถนน บางครั้งการที่ปวดหลังจากตื่นนอนทันที จะชวนให้คิดถึง 3 อย่างคือ 1.นอนไม่พอ 2.กระดูกคอ กล้ามเนื้อคอมีปัญหากับที่นอน 3.มีการกรนหรือหยุดหายใจในขณะหลับ ทำให้ออกซิเจนไปสมองไม่ดีนัก

ความเครียดของร่างกายที่ทำให้เกิดการปวดหัวก็เช่น นอนไม่พอ กล้ามเนื้อคออยู่ในท่าเดิมนานๆ (หมอนสูงไป ต่ำไป นั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ) สายตาสั้นยาวไม่เหมาะสมกับแว่นตา อดอาหาร หิวจนเกินไป ทำงานในที่อากาศไม่ถ่ายเท

ความเครียดของจิตใจก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นเดียวกัน บางคนมองข้ามตรงนี้ไป โดยทั่วไปหากผู้ป่วยนอนไม่หลับแล้วปวดหัวร่วมด้วย หากได้รับยาช่วยให้หลับสบาย ก็มักจะหายปวดหัวไปได้ โดยไม่ต้องใช้ยาอื่น โดยทั่วไปความเครียดเกิดจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน เนื่องจากต้องทำอะไรเร็วๆ ต้องแก่งแย่งแข่งขัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเครียดตามมาได้ง่าย

ผมได้กล่าวถึงสาเหตุของเรื่องปวดหัวไว้ทั่วๆไป ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า มีสาเหตุจากหลายปัจจัย หากเป็นสาเหตุที่พอรักษา ปรับปรุงเองได้ ก็น่าจะลองทำดู เผื่อว่าโรคปวดหัวเรื้อรังนั้นจะหายไปครับ

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เวียนหัว

โรคเวียนหัวเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคมเมือง และสังคมสูงอายุในปัจจุบัน

เวียนหัวเป็นอาการที่คนไข้มาปรึกษาแพทย์ แต่สาเหตุที่เกิดเวียนหัวจริงๆแล้วนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงมากเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ในทางการแพทย์เราแบ่งอาการเวียนหัวออกเป็นสองกลุ่มคร่าวๆได้ดังนี้

1.เวียนหัวชนิดบ้านหมุน (vertigo) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำในหูไม่เท่ากัน" เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ระบบทรงตัวของร่างกาย เจ้าระบบทรงตัวนี้อยู่แถวๆบริเวณกกหูพอดี ดังนั้นจึงมีคำศัพท์ว่าน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดขึ้น  อาการนี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลันทันใด และทำให้ทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวหมุนเคว้งคว้าง อาการมักเป็นมากขึ้นหากขยับศีรษะไปในท่าใดท่าหนึ่ง ก้มเงย หันซ้ายขวาหรือเอียงคอ มักมีอาเจียนร่วมด้วย

2.เวียนหัวชนิดมึนๆศีรษะ (dizziness) ความรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก อาการเวียนจะไม่ถึงกับบ้านหมุนคว้าง แต่ออกจะเป็นไปในทางมึนงง ตัวลอยๆ หนักศีรษะปวดศีรษะ เหมือนคนจะหลับ เหมือนคนจะหน้ามืด สายตาอ่อนล้า เมื่อยตา

เนื่องจากการเวียนหัวเป็นความรู้สึกที่แสดงออกมา เราจึงต้องถามประวัติให้ละเอียดว่าผู้ป่วยเวียนหัวแบบไหนกันแน่ เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกต้องตามสาเหตุที่เป็น

แพทย์จะวัดความดันโลหิตเพื่อดูความรุนแรงของโรค หากเป็นโรคที่รุนแรง ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นมากฉับพลันทันที เช่น เลือดออกในสมอง พวกนี้ความดันจะสูงขึ้นไปถึง 180-200 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นการวัดความดันเป็นการกรองโรคออกไปขั้นที่หนึ่ง การส่องไฟเพื่อดูม่านตา ก็จะเป็นการกรองโรคอีกชั้นหนึ่ง หากรุนแรงก็รักษากับทางโรงพยาบาลไป

ผมจะเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เราสามารถรักษากันเองตามคลินิกหรือนอก รพ.

ถ้าให้เลือกความรุนแรง เวียนหัวชนิดบ้านหมุนย่อมรุนแรงกว่า แต่ปรากฏว่ามักจะสามารถรักษาได้ง่าย และหายขาดไปได้ด้วยยาแก้เวียนหัวที่มีอยู่ในท้องตลาด อาทิยาแก้เมารถเมาเรือ ยาเปิดให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ฯลฯ ร่างกายมนุษย์สามารถปรับสมดุลได้เอง อาการเวียนหัวบ้านหมุนก็จะหายไปได้ใน 1 สัปดาห์ แนะนำให้นอนพักผ่อนให้มาก และทานวิตามิน B เพื่อบำรุงระบบประสาท เรื่องราวนี้หากท่านผู้อ่านเกิดเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นมา เมื่อไปพบแพทย์ก็จะสามารถรักษาได้ง่ายครับ

แต่อาการเวียนหัวชนิด dizziness ถึงแม้ไม่รุนแรงนัก แต่กลับรักษายากกว่า เป็นเรื้อรังกว่า และหากว่ากินยาแก้เวียนหัวที่กล่าวมาข้างต้นเข้าไปจะกลายเป็นรักษาผิดทาง อาจทำให้อาการเป็นมากและไม่ยอมหายสักที

สมมติฐานของอาการมึนศีรษะ dizziness นี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคโดยองค์รวมของร่างกาย มากกว่าโรคเฉพาะจุดที่ศีรษะ ผมยกตัวอย่างเช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง เครียด เลือดจาง กล้ามเนื้อเกร็งตัวเมื่อยล้า ทำงานในตึกสูง (sick building syndrome) โรค office syndrome โรคนอนไม่หลับ หรือ ไม่มีเวลานอนให้เพียงพอ
สำหรับสมมติฐานที่เกิดจากโรคเฉพาะจุดก็เช่น สายตาสั้นยาว กระดูกคอเสื่อม


ที่ผมพบบ่อยและก็เจอข้อผิดพลาดในการรักษามากที่สุดก็คือ
กลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง แล้วมาแสดงอาการออกไปทางเวียนหัว เวลาที่เราใช้ยาแก้เวียนหัวกิน ก็มักจะยิ่งทำให้ง่วง ยิ่งทำให้เพลียมากขึ้นไปอีก เมื่อคนไข้ได้ยากลุ่มนี้เข้าไปก็จะยิ่งเวียนหัว บางครั้งคนไข้ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อ นั่นก็ทำให้ง่วงเช่นเดียวกัน

คำถามสำคัญก็คือ "นอนหลับดีหรือไม่?"
ถ้าคนไข้นอนไม่หลับ เราก็จะชวนให้ลองทดสอบสมมติฐานของการนอนก่อน โดยให้ใช้ยานอนหลับชนิดที่อ่อนที่สุด เพื่อช่วยให้เขานอนหลับให้ดีๆ แล้วติดตามดูว่าการเวียนหัว ดีขึ้นหรือไม่?

ในบางรายน่าเห็นใจกว่าก็คือ นอนหลับดี แต่ไม่มีเวลานอนเลย (นอนไม่พอ) ถ้าเป็นในกลุ่มนี้เราก็จะแนะนำให้ลองกินวิตามินเพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น จำพวกวิตามิน B วิตามิน C ไปจนถึง Co-enzyme Q10

บางรายคิดว่านอนพอ คือนอนได้เป็น 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ค่อยพอสักที พอตอนกลางวันก็เพลียใหม่ เราต้องติดตามโรคหยุดหายใจในขณะหลับ แล้วก็แนะนำให้คิดถึง battery โทรศัพท์ที่มันเสื่อมสภาพ แม้ว่าคนไข้จะนอนเป็นเวลานาน เปรียบเหมือนชาร์ตไฟ 10 ชั่วโมง แต่พอใช้ไปได้ครึ่งวัน แบตเตอรี่ก็หมดอยู่ดี
ดังนั้นภาวะแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ เพราะนอนเท่าไรก็ไม่พอ เราจะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกาย โดยเน้นแบบ aerobic เป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที การออกกำลังกายแบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เหมือนกับการได้แบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนอีกครั้ง

การหายใจก็มีความสำคัญสำหรับโรคเวียนหัว บางครั้งเราหายใจไม่เพียงพอ รับออกซิเจนน้อยเกินไป การฝึกให้หายใจลึกๆ ก็มีความสำคัญ การอยู่ในห้องที่บรรยากาศถ่ายเทสะดวกก็ช่วยได้

ความอ่อนเพลียสำหรับสังคมปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการใช้งานหนัก แต่เป็นจากความเครียดเป็นสำคัญ บางครั้งแม้เราไม่ได้ทำงานหนักอะไรเลยทั้งวันแต่ก็รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก นั่นเป็นเพราะงานที่ใช้ความคิดความเครียดจึงเกิดขึ้นตามมาโดยไม่รู้ตัว เราต้องแนะนำให้บริหารความเครียดให้ได้ก่อน

บางครั้งการเวียนหัวเกิดจากเรื่องทีมองข้ามกันไปเช่น อดข้าวมา เลยอ่อนเพลีย ก็คงต้องดูด้วยว่าเวียนหัวจากการอดอาหารหรือเปล่า?

เวียนหัวที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคอ ตัวผมเองเคยศึกษาเรื่องการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เวียนหัวได้อย่างไร จริงๆแล้วเส้นประสาทในกล้ามเนื้อที่ตึงตัวจะส่งกระแสประสาทขึ้นไปรบกวนสมองให้เกิดอาการเวียนหัวขึ้นได้ แต่เราอธิบายง่ายๆก็คือ ลมปราณติดขัดอยู่ที่กล้ามเนื้อคอ ทำให้เกิดอาการเวียนหัว กล้ามเนื้อรอบคอ กล้ามเนื้อข้างคอ กล้ามเนื้อท้ายทอย ไปจนถึงกล้ามเนื้อบ่าสองข้าง พวกนี้หากว่าตึงตัวแล้วจะทำให้เกิดการเวียนหัวขึ้นได้ การรักษาก็นวดคลายกล้าม คอยหมั่นยืดเหยียดกล้าม ก็จะช่วยได้ แต่ก็ต้องคอยทำอยู่เสมอ นั่งให้ตัวตรง เพราะโรคนี้มักกลับมาตึงตัวซ้ำอยู่บ่อยๆ

ที่กล่าวมาเป็นความรู้เรื่องเวียนหัวอย่างคร่าวๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อสงสัยประการใดลองโพสต์ถามมาได้นะครับ ยินดีช่วยเหลือเสมอครับ

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

hyperventilation syndrome กลุ่มอาการหายใจเกิน

หลายครั้งในการทำงานเป็นหมอ เราจะพบคนไข้มาแบบฉุกเฉินนอนเปลมาเลย มาด้วยอาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน มือเท้าชา มือเท้าจีบเกร็ง เหมือนจะเป็นลมหมดสติ (เกือบจะเป็นลม)

เมื่อตรวจร่างกายก็ไม่พบอะไรผิดปกติ สัญญาณชีพยังอยู่ในเกณฑ์ดี ความดันดี ที่น่าสนใจก็คือ มักจะหายใจเร็วมาก หายใจตั้ง 20 กว่าครั้งในหนึ่งนาที (คนปกติหายใจสักประมาณ 6-10 ครั้งต่อนาที) พอเราตรวจปอดก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่ไอ ไม่มีเสียงหอบหืด มีแต่อาการหายใจเร็ว


คนไข้ในกลุ่มนี้จะทุรนทุรายมาก
พวกหมอเราได้เรียนมา ก็จะทราบว่านี่เป็นอาการหายใจเร็วเกินไป hyperventilation syndrome ญาติมิตรพาส่ง รพ. น่ะถูกต้องแล้ว แต่เราจะแก้ไขอย่างไรให้หาย? ถึงแม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทิ้งไว้ให้เป็นไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น จากเดิมที่แค่ชามือ ชาเท้า ก็จะเปลี่ยนเป็นมือหงิก เท้าเกร็ง (เกร็งมากจริงๆนะครับ ไม่ได้แกล้ง และแกะยังไงก็ไม่ออก) คนไข้ยิ่งตกใจกลัว ก็จะยิ่งหายใจหอบถี่ขึ้น ทำให้อาการยิ่งเป็นมากขึ้น

กลไกการเกิดโรคนี้ที่ทำให้เกิดอาการมืดจีบเกร็ง

อาการที่กล่าวมา อาจทำให้ถึงกับหน้ามืด เวียนหัว หมดสติ และชักไปจริงๆ ก็ได้ ถ้าเราไม่รักษา

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาที่มีฤทธิระงับประสาท และทำให้นอนหลับ อาจเป็นกลุ่มยาฉีด (เพราะคนไข้เป็นมาก ไม่สามารถกลืนยาได้) หรือยากินก็ได้ เมื่อคนไข้ได้นอนพัก อาการก็จะหายไปได้เอง

สำหรับการปฐมพยาบาลกันเองนั้น เราแนะนำให้หายใจเข้าออกในถุง เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดขึ้นมาบ้าง อาการจีบเกร็งชา จะได้บรรเทาลง เมื่อพบว่าการรักษาแบบนี้ดีขึ้น คนไข้้ก็จะคลายความกลัวไป แล้วทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติ
ผมเองก็รู้จักโรคนี้พอสมควร ในมุมมองของจิต ปัญหามันเกิดจากความคิดของเรา ทำให้เกิดอาการทางกาย ยิ่งเป็นก็ยิ่งคิดยิ่งกังวล เกิดความกลัว พอหมอฉีดยานอนหลับให้หลับไป ก็เท่ากับไปตัดกระบวนการคิด ให้ร่างกายได้พักผ่อน โรคจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอื่นเลย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความคิด ว่าสามารถทำให้ร่างกายป่วยได้อย่างไร
เราไม่สามารถหยุดกระบวนการคิดซ้ำๆลงได้ เพราะมันหมุนแรงมาก คนที่มีพลังสติเยอะ จึงจะสามารถหยุดภาวะ hyperventilation syndrome ได้เอง (โดยทั่วไปก็คงไม่ปล่อยให้เป็นมากจนเกิดแบบนี้) การใช้ยานอนหลับเปรียบเสมือนการเข้าสมาธิให้จิตใจได้พักผ่อน ดังนั้นคนทั่วๆไปควรฝึกสมาธิเอาไว้ เพื่อเป็นการให้จิตได้พัก

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552

ผื่นแพ้และคันเรื้อรัง



โรคผิวหนังชนิดผื่นคัน ฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็กเลยนะถ้าหากต้องเป็นเรื้อรังแรมเดือนแรมปี ไม่หายสักที วันนี้ผมจะขออนุญาตนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเรื่องผื่นคันที่ว่านี้ให้กับท่านผู้อ่าน เผื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกและหายในเร็ววันครับ

โรคผื่นคันมีสองประเภท คือ




  1. ชนิดที่เพิ่งเป็น (ไม่เกินเดือน) ชนิดนี้รักษาไม่ยากถ้าหากไปพบแพทย์หรือเภสัชกรและใช้ยาที่เขาแนะนำ ผมจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ในตอนนี้ อยากจะเล่าถึงเรื่องอีกชนิดหนึ่งมากกว่า


  2. ชนิดที่เป็นเรื้อรัง (ไม่หายเสียที แม้จะผ่านเวลามาหลายเดือนแล้ว) ชนิดที่สองนี้จะต้องมีความรู้ประกอบด้วย คือรู้จักการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ก็อาจจะหายได้ครับ



โรคผื่นคันชนิดเรื้อรัง (Chronic eczema)



คือผื่นที่ขึ้นที่เดียวกันอย่างต่อเนื่อง นานมากกว่า 1 เดือน โดยอาการแรกจะมีน้ำเหลืองไหล หรือเป็นแผลเฟะบริเวณที่คัน หลังจากการรักษาไปบ้าง ก็จะกลายเป็นผิวหนังแห้งๆ แตกเป็นแผล และก็มีน้ำเหลืองออกมาอีก น้ำเหลืองที่ว่านี้จะใสๆ พอแข็งตัวก็จะกลายเป็นสะเก็ดสีเหลืองเข้มปกคลุมแผลอยู่ พอเกาไปเกามาก็กลับเป็นแผลอีกครั้ง



ผื่นคันเรื้อรังนี้มักจะพบได้ในตาม มือ เท้า ไปจนถึงหนังศีรษะ







สาเหตุที่ทำให้ไม่หายสักที


สาเหตุที่มองข้ามไป


ก็คือ สารเคมีที่เราใช้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้น บางคนเป็นผื่นคันมาก ก็นึกว่าตัวเองนั้นสกปรก จึงสรรหาเอาสารพัดน้ำยาทำความสะอาดมาล้างแผลบริเวณนั้น เริ่มจากสบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม บางคนก็ใช้น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงผงซักฟอกเลยก็มี แล้วแค่นั้นก็ยังกลัวไม่สะอาดสมใจ ยังใช้สก๊อตไบรต์ขัดเสียอีกแน่ะ จะได้สะอาดๆ


ก็จริงอยู่ครับว่าแผลมันสะอาด แต่แผลก็ได้รับการกระทบกระเทือนมากเหลือเกินจากการทำแบบนี้ ผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้แผลไม่หาย ไม่ใช่เชื้อโรคหรือความสกปรกหรอก แต่อยู่ที่แผลมันระคายต่อสารเคมี และการทำทารุณกรรมกับมันต่างหาก พอคนไม่รู้ตรงนี้ยิ่งฟอกยิ่งเป็น ยิ่งเป็นยิ่งฟอก ทำให้เกิดวงจรที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น


แนะนำให้ล้างแผลด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว (อย่าแม้แต่จะฟอกสบู่นะครับ) ล้างน้ำเปล่าแล้วเช็ดให้แห้ง ก็พอ อาการอักเสบของแผลอาจจะลดลงไปได้บ้างหากไม่โดนสารเคมี


สิ่งที่ควรทำประการที่สอง


ก็คือ การรักษาความชุ่มชื้นให้กับแผล ยิ่งแผลที่เก่าแก่มากเพียงใด ผิวหนังบริเวณนั้นจะแตกออกมากเพียงนั้น มองๆไปมันเหมือนดินที่แตกระแหงในยามหน้าแล้งนั่นเอง ผิวหนังของคนเราก็เหมือนกัน ขนาดมันดีๆอยู่ มันก็เสียความชุ่มชื้นไปมากโขอยู่แล้ว แต่นี่ถ้าหากมีการแตกออกของผิวหนังอีก ความชุ่มชื้นจะระเหยออกมาจะร่องที่แตกอย่างรวดเร็ว เป็นสิบๆเท่าของปกติเลยล่ะ


เราต้องทำให้บริเวณผิวหนังที่แห้งนั้นมีความชุ่มชื้นมากขึ้น อาจจะใช้โลชั่นทาก็ได้ (แต่ต้องไม่เป็นอันตรายหรือระคายเคืองต่อแผลนะ) บางคนอาจกินวิตามิน A หรือ E เพื่อเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่ที่ผมดูมาและเห็นว่าเด็ดที่สุด คือ การใช้พลาสติกห่อแผลเอาไว้เลยครับ หลักการก็เหมือนใช้พลาสติกคลุมหน้าดิน หรือห่อผลไม้ตามต้นอย่างนั้นแหละครับ ถ้าเป็นแผลแห้งคันเรื้อรังที่เท้า เราก็เอาถุงพลาสติกมาคลุมเท้าไว้ และใส่ถุงเท้าทับไปอีกชั้น (ถ้าเป็นที่มือก็ใช้ถุงมือทับไปอีกชั้น) ทำเฉพาะตอนกลางคืนก็ได้ จะเห็นผลว่าแผลมีความชุ่มชื้นมากขึ้นใน 1-2 วัน


ยาที่ใช้รักษา


เมื่อเราหลีกเลี่ยงของระคาย และสร้างความชุ่มชึ้นให้กับแผลเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงยาล่ะครับ ยาที่ใช้ก็เป็นยาครอบจักรวาลที่ทุกคนรู้จัก ก็คือ TA cream หรือเสตียรอยด์ครีม นั่นเอง ท่านผู้อ่านได้ยินชื่อแล้วอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีครับ อันว่าเสตียรอยด์นี้มีชื่อเสียงที่ไม่ดีเรื่องผลข้างเคียงของมัน แต่ถ้าหากเป็นยาทาใช้ภายนอก ผลเสียของมันก็น้อยมาก (ยกเว้นเอาไปทาหน้านะครับ) ท่านผู้อ่านไปปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านได้เลยครับ เพื่อให้คุณหมอเขายืนยันประโยชน์ของมันในการรักษาแผลเรื้อรังชนิดนี้


สาเหตุที่ควรหลีกเลี่ยง ท่านลองสังเกตดูว่าท่านได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่




  • สารเคมีต่างๆ ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ดินผสมสำหรับปลูกต้นไม้ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน หมึกพิมพ์ น้ำมัน ปูน ฯลฯ


  • สารชีวภาพ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ต้นไม้ ใบไม้บางชนิด เศษหญ้า น้ำหอม


  • เครื่องแต่งกาย บางคนแพ้สร้อยคอ สายเข็มขัด นาฬิกา ไปจนถึงยาง เช่นถุงมือยาง รองเท้ายาง สายรองเท้าแตะแบบหนีบ บางคนใส่เสื้อผ้าบางชนิดแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้น


ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านลองสังเกตดูครับ ว่าเราแพ้อะไร ทำอะไรแล้วเป็นมากขึ้น อะไรทำแล้วแพ้น้อยลง ลองใช้วิธีแบบที่ผมกล่าวมาเป็นการทดลองเอาก็ได้ครับ ว่าจะได้ผลหรือไม่ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2552

อาหารเป็นพิษ

สำหรับบทความแรกของปี ก็จะขอพูดถึงเรื่อง "อาหารเป็นพิษ" ก็แล้วกันนะครับ เพื่อให้เกิดความเข้ากันกับเทศกาลปีใหม่ ที่เรามักจะกินเลี้ยงกันอย่างอิ่มหนำสำราญ หากใครโชคไม่ดีเกิดอาการอาหารเป็นพิษขึ้นมาล่ะก็ เทศกาลรื่นเริงสำหรับคนอื่นคงไม่สนุกนักสำหรับเขา เนื่องจากป่วยอยู่ จึงต้องนั่งดูคนอื่นสนุกกันตาปริบๆ เนื่องจากผะอืดผะอมและท้องเสียจู๊ดๆไม่มีเรี่ยวแรง นั่นเอง

อาหารเป็นพิษเกิดได้อย่างไร?


อาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อโรค และพิษของสารปนเปื้อนในอาหาร เมื่อเรากินสารพิษเหล่านั้นไป (โดยไม่รู้ตัว) ก็จะเกิดอาการขึ้นมาทีเดียวเชียวแหละ ถ้าหากเป็นอาหารที่มีพิษมากอยู่แล้ว อาการจะเกิดภายใน 10-20 นาทีหลังรับประทานเข้าไป แต่ถ้าหากเป็นอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนเล็กน้อย กว่าเชื้อจะฟักตัวจนทำให้เราป่วยก็อาจจะกินเวลา 3-10 ชั่วโมงไปโน่นแหละครับ ดังนั้นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ อาจจะไม่ได้เกิดจากมื้ออาหารล่าสุด แต่อาจเกิดจากมื้อก่อนๆโน้นก็เป็นได้

อาการที่พบกันบ่อยๆก็มีอยู่ 2 ระบบ


1. กระเพาะลำไส้ - จะเกิดอาการระคายเคืองขึ้นมา เมื่ออวัยวะเหล่านี้เจออาหารเป็นพิษ มันจะพยายามบีบตัว เพื่อไล่อาหารพิษเหล่านี้ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด ถ้าบีบขึ้นข้างบนก็จะทำให้เราอาเจียน คลื่นไส้ ถ้าบีบลงด้านล่างก็จะทำให้ถ่ายเหลวออกมา อาการเหล่านี้จะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความแรงของพิษครับ ในผู้ป่วยบางคนลำไส้บีบตัวแรงมาก ทำให้ปวดท้องจริงๆ (ไส้บิด) นี่ก็อาการหนัก ในผู้ป่วยบางคนอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้เลย อ่อนเพลียละเหี่ยใจ นี่ก็อาการหนัก ในบางคนท้องเสียไม่ยอมหยุด เรียกว่านอนเฝ้าหน้าห้องน้ำกันเลย ถ่ายจนหมดตัว เกิดอาการขาดน้ำหน้ามืด และเป็นลม ในบางคนที่โชคร้ายเป็นดังที่กล่าวมาทั้งหมด สามประการ อันนี้เกินความทนทานของมนุษย์จะรับไหว (ส่วนใหญ่เหล่านี้จะโดนหามเข้าส่งโรงพยาบาล ในที่สุด)


2. อาการอื่นๆจากพิษ ผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวด้วย บางคนปวดหัว (ยิ่งอาเจียนแรงยิ่งปวดหัวกันไปใหญ่) บางคนมือเท้าอ่อนแรงไป อาจเกิดจากพิษหรืออาเจียน+ถ่ายมากเสียจนเพลีย เสียเกลือแร่มากไป



อาหารเป็นพิษถึงตายได้ถ้าไม่รู้จักดูแล


- สาเหตุที่ทำให้ผู้คนถึงแก่ความตายมากที่สุดก็คือ การขาดเกลือแร่ และการขาดน้ำ เมื่อเราอาเจียนและถ่ายออกไป เราไม่ได้ถ่ายออกแต่น้ำ เรายังเสียเกลือแร่ที่จำเป็นออกไปอีกด้วย หลายๆคนเพลียมาก กินน้ำเท่าไรก็ไม่หาย ยิ่งกินยิ่งเพลีย นั่นก็เพราะเราอาจจะลืมนึกถึงเกลือแร่ไปครับ สมัยนี้เกลือแร่ตามร้านสะดวกซื้อมีขายมากมาย เอามาชงกินเยอะก็พอจะช่วยตรงจุดนี้ไปได้ แต่ถ้าหากอยากจะลองทำน้ำเกลือแร่ดูเองก็ไม่ยากครับ (เงินทองไม่รั่วไหล แถมยังได้ความภูมิใจ) วิธีคือ ใช้น้ำสะอาด 1 ขวดแม่โขง ต้มกับน้ำตาลและเกลือ อัตราส่วนก็คือ เราใช้ช้อนกลาง (ช้อนสั้นที่ใช้ตักแกงน่ะนะครับ) น้ำตาลทราย 1 ช้อนใช้ด้านหน้าช้อนตักตามปกติ และเกลือแกง (เกลือป่น) เอาหางช้อนตักเอา 1 ครั้งครับ เท่านี้เราก็จะได้น้ำเกลือแร่มากินกันแล้ว



- สาเหตุที่ทำให้เรื่องอาหารเป็นพิษกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาไม่ถูกวิธี บางคนเมื่อท้องเสีย ก็ไปหายาที่บังคับลำไส้ให้หยุดถ่ายมากิน เมื่อลำไส้มันโดนบังคับให้หยุด มันก็ต้องหยุดล่ะ แต่ปัญหาก็คือเชื้อโรคที่อยู่ข้างในน่ะสิ จากที่มันควรจะต้องถูกถ่ายออกไป แต่เราไปหยุดเขาไว้ ดังนั้นเชื้อโรคจะขยายตัว แพร่พันธ์จนเต็มลำไส้เลยทีเดียว ถ้าถึงขั้นนี้เชื้อจะลุกลามเข้ากระแสเลือด และทำให้ถึงตายได้ง่ายๆครับ ดังนั้นเราควรจะยอมถ่ายออกไปบ้างเพื่อให้เชื้อออกไปจากตัวเรา

ทำอย่างไรให้หายไว?
โดยทั่วไปเราก็ไปพบหมอนั่นเอง จะได้หายไวๆหน่อย หมออาจจะจ่ายยามาเพื่อบรรเทาอาการอาเจียน บรรเทาอาการปวดท้อง อาจจะจ่ายถ่านอัดเม็ดมาเพื่อดูดซับพิษออกจากลำไส้ ในรายที่ถ่ายมีกลิ่นคาว + เน่า + มีมูกๆปน แสดงว่าเชื้อโรคค่อนข้างแรง จะต้องใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย

ข้อคิดหนึ่งที่จะทำให้หายไวขึ้นก็คือ ต้องรู้จักร่างกายของตน บางคนท้องเสียแล้วไม่ยอมหายเสียที เนื่องจากพี่ยังกินอาหารเข้าไปไม่หยุดยั้งให้ลำไส้ได้พักเลย ลำไส้จึงประท้วงด้วยการถ่ายอาหารเหล่านั้นออกมาอีก (ชนิดที่เรียกว่ากินอย่างไร ถ่ายออกมาอย่างนั้นเลยล่ะ) การกินอาหารในช่วงเวลาที่กระเพาะลำไส้ปั่นป่วนจึงไม่บังควรทำ เราต้องการให้ลำไส้ได้พักผ่อน รีดเอาของสกปรกในลำไส้ออกมาให้หมด (ทำให้ไส้แห้ง) ลำไส้จะตั้งตัวใหม่ได้ใน 1-2 วัน เชื้อโรคเองในเมื่อไม่มีอาหารในลำไส้เหลือให้เขาเกาะ เขาก็อยู่ไม่ได้ ต้องบ๊ายบายจากร่างกายเราไปอย่างรวดเร็ว



คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่เหมาะกับตอนท้องเสีย ก็คือ อย่าเพิ่งกินอาหารหนักๆ ให้เริ่มอาหารพวกน้ำๆก่อน เช่น น้ำซุป โอวัลติน น้ำหวาน (ห้ามกินนมวัวนะครับ มันย่อยยาก ถ้าจะกินนมให้กินนมถั่วเหลืองจะดีกว่า) หลังจากที่ลำไส้เริ่มดีขึ้น เริ่มหิวๆขึ้นมาหน่อย เราก็เริ่มกินข้าวต้ม หรือโจ๊ก ไม่ต้องใส่หมู ใส่แต่ซีอิ๊วก็พอครับ เมื่อลำไส้ฟื้นเต็มที่จึงหันไปกินอาหารตามปกติ


อาหารเป็นพิษป้องกันได้อย่างไร?
เราต้องพยายามรู้ให้ได้ว่า อาหารไหนทำท่าจะมีพิษ ถ้ารู้ได้หมดก็คงไม่เป็น คนบางคนความรู้สึกไว กินอะไรที่ไม่สดหน่อยก็จะรู้สึกได้ (คนประเภทนี้จะไหวตัวทัน และไม่ค่อยป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ) แต่อาหารบางอย่างก็สังเกตยาก ผมพยายามรวบรวมเอามาให้พิจารณากันนะครับ ข้อคิดคือ อาหารที่เราไม่แน่ใจ 50-50 (50 เสีย 50 ยังน่าจะกินได้) ผมแนะนำว่าอย่าไปเสียดายเลย ถ้าสงสัยตั้งครึ่งนึงแล้ว ก็ควรที่จะทิ้งไปเสีย ดีกว่ามานั่งทุกข์ทรมานจากอาหารเป็นพิษครับ
- ขนมปัง แป้ง ที่ขึ้นรา บางครั้งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงควรดูวันหมดอายุเป็นสำคัญครับ
- อาหารกระป๋องที่บวม หรือ บุบ (อันนี้ไม่ต้องบอกก็คงไม่มีใครกินล่ะนะ)
- ผักต้องล้างให้สะอาด เพราะอาจมียาฆ่าแมลง ผักใบสวยๆนี่แหละดีนักแล ยาฆ่าแมลงเยอะครับ
- อาหารพวกเนื้อสัตว์ พยายามอย่ากินอาหารดิบๆ เช่นเนื้อย่าง ไก่ย่างที่ยังแดงๆอยู่เลย ยกเว้นแฟนพันธ์แท้ ที่ต้องกินเสต็กแบบ medium-rare อันนี้ก็ต้องดูร้านอาหารด้วยว่าเชื่อใจได้หรือเปล่าครับ
- อาหารทะเล พวกนี้เสียง่าย และมักมีพิษถ้าเรากินไม่เป็น เช่น หอยแมลงภู่ จะมีหนวดพิษอยู่ ถ้าเรากินเข้าไปก็คงจะป่วย ไปจนถึงกุ้ง (กุ้งมีขี้อยู่บนหัวนะ ต้องดึงออกก่อน บางคนหลงคิดว่าคือมันกุ้ง แต่จริงๆแล้วคือขี้กุ้งครับ) อาหารทะเลเสียง่ายจริงๆ จึงต้องเลือกเอาที่พึ่งนึ่งกันสดๆ เป็นๆ (ไม่ได้สนับสนุนให้ทำบาปนะครับ)
- อาหารค้างคืน ของบ้านเราเองนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค เพราะความใกล้ชิดทำให้ชะล่าใจ
- น้ำแข็ง ใครไปดูกระบวนการผลิต โดยเฉพาะน้ำแข็งป่น น้ำแข็งทุบ จะเห็นได้ว่ามันค่อนข้างสกปรก ถ้าเป็นไปได้พยายามกินน้ำแข็งหลอด ยูนิตดีกว่า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็กินแต่น้อย (ไม่ใช่กินน้ำจนหมดแก้วแล้วยังนั่งเคี้ยวน้ำแข็งดังกรอบๆ นอกจากจะถูกมองจากคนรอบข้างแล้ว ยังอาจจะรับเชื้อโรคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว)

เรื่องราวว่าด้วยเรื่องอาหารเป็นพิษก็มีเท่านี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยครับ

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประเด็นเกี่ยวกับหวัด

สวัสดีครับ ผมมีความยินดีที่จะได้แนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับโรคหวัด
โรคหวัดนี่เป็นโรคที่ใครๆก็เคยเป็นและเคยได้รู้จักกันมาบ้างไม่มากก็น้อย
ถ้าหากเรารู้จักโรคหวัดดีๆ เราก็จะสามารถป้องกัน และดูแลตัวเองในคราวที่ต้องเป็นหวัดได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ป่วยน้อยลง หายเร็วขึ้นด้วยครับ

สาเหตุ

โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ลอยมาตามอากาศ มักจะระบาดมากในหน้าฝนและหน้าหนาว โดยการแพร่ระบาด จะมาจากผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูก เชื้อจะแพร่กระจายไปในละอองน้ำ ถ้าเราอยู่ในที่อากาศอับๆ ก็มีโอกาสที่จะติดหวัดได้ง่ายๆ ที่สิ่งที่น่ารู้ก็คือว่า สาเหตุของการติดหวัดส่วนใหญ่ เกิดจากการสัมผัสโดยตรงต่างหาก เช่น คนเป็นหวัดมีน้ำมูก เอามือที่เลอะน้ำมูกของตนไปจับลูกบิดประตู พอเราเข้าไปจับลูกบิดเช่นกันและเอามือนั้นมาขยี้ตาก็อาจเป็นหวัดได้ ดังนั้นการป้องกันหวัดที่ดีก็คือ "การล้างมือ"

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่รับเชื้อจะต้องเป็นหวัด "เชื้อหวัดมักจะเป็นกับผู้ที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงในช่วงนั้นพอดี" อาทิ นอนไม่พอ ตากฝน ตากแดด หรือไปอยู่ในที่ที่มีเชื้อค่อนข้างมาก และอากาศไม่ระบาย เช่น ในรถยนต์ ห้องแอร์ หรือ สถานที่ชุมนุมชน เช่น ผับ เธค โรงหนัง เหล่านี้จะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อให้มากขึ้น

อาการของโรคหวัด

อาการและระยะเวลาของการเป็นโรคหวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าหากเราทราบข้อมูลตรงนี้ ก็จะคลายความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโรคไปได้มากทีเดียว และช่วยให้เราปฏิบัติตัวได้ดีขึ้นอีกด้วย

อาการเตือน - อาการเริ่มต้นของการเป็นหวัด ในระยะนี้เป็นระยะที่มีความสำคัญ หากเราสามารถรู้ตัวได้ว่า จะเริ่มเป็นหวัด แล้วสามารถพักผ่อนร่างกาย รักษาตัวให้มีความอบอุ่น จากที่จะต้องเป็นหวัด ก็อาจจะไม่ต้องเป็นเลยก็ได้ อาการเตือนว่าจะเป็นหวัดมีดังนี้ครับ

1. จามหลายๆครั้ง แบบผิดสังเกต (นี่เพราะเชื้อโรคได้เข้ามาในเยื่อบุจมูกเราแล้ว แต่ยังไม่แบ่งตัว ร่างกายจะพยายามต่อต้านมัน โดยการทำให้เราระคายเคืองและจาม)

2. มีความรู้สึกเพลียๆ ไม่สบายเนื้อตัว อยากนอนอยู่ตลอดเวลา (แต่ไม่สามารถนอนได้ เพราะต้องทำงาน)

3. เรื่องของไข้ อาการของไข้อาจจะแสดงออกต่างๆกันไป เช่น บางคนก็ตัวร้อน บางคนก็ร้อนแต่กระบอกตา บางคนออกไปทางมึนๆงงๆศีรษะ บางคนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางคนปวดกระดูก นี่คืออาการของไข้ทั้งสิ้น

4. ความรู้สึกว่า คอแห้ง แสบๆคอ นี่ก็เป็นอาการเตือนของโรคหวัดเหมือนกันครับ

อาการเตือนทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วันเท่านั้น นี่คือโอกาสทองที่จะตัดสินว่า เราจะเป็นหวัดต่อไปหรือไม่ ในคนที่พักผ่อนได้ดี ดูแลตัวเองได้ดี ก็จะไม่เป็นหวัดครับ

อาการขั้นแรกของหวัด - มีน้ำมูกใส หยดติ๋งๆ ไม่เหนียวข้น น้ำมูกใสๆนี้จะเป็นอยู่แค่ 1-2 วัน หลังจากนั้นก็จะมีน้ำมูกน้อยลง เปลี่ยนเป็นแบบข้นๆขุ่นๆแทน

อาการขั้นที่สองของหวัด - ก็คือ ไอ มักจะเริ่มจากไอแห้งๆก่อน ไม่มีเสมหะ อาการไอนี้จะไอได้นานตั้งแต่ 7 วัน ไปจนถึงเป็นเดือนก็มี (โดยเฉพาะในสังคมเมืองกรุง ที่คนมีอาการภูมิแพ้ แพ้ง่าย การไอจะยาวนานมากกว่าปกติครับ)

การไอชนิดไม่มีเสมหะเป็นการไอแบบธรรมดาๆ เกิดจากการระคายของหลอดลมนิดหน่อย การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ไอ เป็นเรื่องที่น่ารู้ สิ่งที่ทำให้ไอมากขึ้น คือ ความเย็น (แอร์เย็นๆ น้ำเย็นๆ) อาหารมันๆทอดๆ อาหารหวานจัด ที่ที่มีฝุ่นละอองเยอะ เหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้ไอมากขึ้น

การไอชนิดมีเสมหะ จัดเป็นปัญหาที่ต้องรักษาให้ถูกวิธี การไอมีเสมหะหมายถึงการไอเสียงดังก้อง (คล้ายกับจะขับอะไรในปอดออกมา) ไอเป็นชุดๆ (บทจะไอก็ไอติดต่อกันเยอะ บทจะไม่ไอ ก็ไม่ไอเอาเสียเลย) การเปลี่ยนตำแหน่งของร่างกาย เช่นจากนั่งเป็นนอน การตะแคงซ้ายตะแคงขวา จะทำให้เกิดอาการไอได้ (เพราะเสมหะไหลออกมา) การไอชนิดนี้นี่เอง ที่ต้องรักษาให้ถูกวิธี การกินยากดอาการไอ ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ เพราะเสมหะยังคั่งค้างอยู่ในปอด

หลุมพรางของการไออย่างนี้ก็คือ การที่เราไม่ได้กินน้ำอย่างเพียงพอ เพราะไม่ว่าจะกินยาละลายเสมหะดีอย่างไร แต่ถ้าหากร่างกายขาดน้ำ ก็ไม่สามารถละลายเอาเสมหะที่เหนียวข้นในปอดออกมาได้ (การสังเกตว่าตัวเองกินน้ำเพียงพอ ก็คือ การดูสีของปัสสาวะ ถ้าหากปัสสาวะสีเหลืองเข้ม แสดงว่า น้ำในร่างกายมีน้อยเกินไป ถ้าปัสสาวะสีอ่อนหน่อยจึงจะดี)

อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยบางคนก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องไอมีเสมหะพอสมควร เนื่องจากการขับเสมหะทางธรรมชาติของเขาไม่ดีเท่าที่ควร อันนี้ก็ต้องปรึกษาคุณหมอนะครับ

อาการแทรกซ้อนของหวัด ก็คือ เชื้อแบคทีเรีย

ซึ่งจะทำให้เราเกิดภาวะคออักเสบขึ้น อาการที่ว่านี้คือเจ็บคอมาก กลืนน้ำลายเจ็บ คลำได้ก้อนที่มุมขากรรไกร เหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของเชื้อครับ ถ้าหากซื้อยามารับประทานเอง ก็ต้องพยายามกินให้ครบตามขนาด จะได้ไม่เกิดอาการดื้อยาขึ้น

ทั้งน้ำมูกและเสมหะ ในช่วงแรกๆจะเป็นสีใสๆ หรือขาวขุ่น แต่ถ้าหากมีเชื้อโรคที่ร่างกายกำจัดออกมาด้วยเสมหะจะเป็นสีเหลืองๆไปจนถึงสีเขียว นั่นหมายความว่าเชื้อโรคได้ตายแล้วและถูกกำจัดออกมา ความสำคัญก็คือว่าเราจะต้องพยายามขับเอาสิ่งเหล่านี้ออกจากร่างกายให้ได้โดยเร็ว เพราะหากเสมหะเขียวๆนี้ค้างในปอด ประมาณ 1-2 วันก็ทำให้เชื้อโรคในเสมหะเขียวๆนี้ฟื้นขึ้นมาใหม่ และเข้าไปทำให้เราป่วยอีก

สรุปคาถาของการดูแลเรื่องหวัด

  1. พักผ่อนให้มากกว่าปกติ เข้านอนให้เร็วขึ้น
  2. กินน้ำอุ่นมากๆ กินให้ปัสสาวะใสๆ จึงถือว่าเพียงพอ
  3. รักษาร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะรอบๆคอ ควรหาผ้ามาพันคอไว้
  4. คิดเผื่อคนอื่นๆ ถ้าไอหรือมีน้ำมูก ควรหาผ้ามาปิดปากเพื่อกันเชื้อแพร่กระจาย

ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงครับ