วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เวียนหัว

โรคเวียนหัวเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคมเมือง และสังคมสูงอายุในปัจจุบัน

เวียนหัวเป็นอาการที่คนไข้มาปรึกษาแพทย์ แต่สาเหตุที่เกิดเวียนหัวจริงๆแล้วนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงมากเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ในทางการแพทย์เราแบ่งอาการเวียนหัวออกเป็นสองกลุ่มคร่าวๆได้ดังนี้

1.เวียนหัวชนิดบ้านหมุน (vertigo) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำในหูไม่เท่ากัน" เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ระบบทรงตัวของร่างกาย เจ้าระบบทรงตัวนี้อยู่แถวๆบริเวณกกหูพอดี ดังนั้นจึงมีคำศัพท์ว่าน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดขึ้น  อาการนี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลันทันใด และทำให้ทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวหมุนเคว้งคว้าง อาการมักเป็นมากขึ้นหากขยับศีรษะไปในท่าใดท่าหนึ่ง ก้มเงย หันซ้ายขวาหรือเอียงคอ มักมีอาเจียนร่วมด้วย

2.เวียนหัวชนิดมึนๆศีรษะ (dizziness) ความรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก อาการเวียนจะไม่ถึงกับบ้านหมุนคว้าง แต่ออกจะเป็นไปในทางมึนงง ตัวลอยๆ หนักศีรษะปวดศีรษะ เหมือนคนจะหลับ เหมือนคนจะหน้ามืด สายตาอ่อนล้า เมื่อยตา

เนื่องจากการเวียนหัวเป็นความรู้สึกที่แสดงออกมา เราจึงต้องถามประวัติให้ละเอียดว่าผู้ป่วยเวียนหัวแบบไหนกันแน่ เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกต้องตามสาเหตุที่เป็น

แพทย์จะวัดความดันโลหิตเพื่อดูความรุนแรงของโรค หากเป็นโรคที่รุนแรง ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นมากฉับพลันทันที เช่น เลือดออกในสมอง พวกนี้ความดันจะสูงขึ้นไปถึง 180-200 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นการวัดความดันเป็นการกรองโรคออกไปขั้นที่หนึ่ง การส่องไฟเพื่อดูม่านตา ก็จะเป็นการกรองโรคอีกชั้นหนึ่ง หากรุนแรงก็รักษากับทางโรงพยาบาลไป

ผมจะเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เราสามารถรักษากันเองตามคลินิกหรือนอก รพ.

ถ้าให้เลือกความรุนแรง เวียนหัวชนิดบ้านหมุนย่อมรุนแรงกว่า แต่ปรากฏว่ามักจะสามารถรักษาได้ง่าย และหายขาดไปได้ด้วยยาแก้เวียนหัวที่มีอยู่ในท้องตลาด อาทิยาแก้เมารถเมาเรือ ยาเปิดให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ฯลฯ ร่างกายมนุษย์สามารถปรับสมดุลได้เอง อาการเวียนหัวบ้านหมุนก็จะหายไปได้ใน 1 สัปดาห์ แนะนำให้นอนพักผ่อนให้มาก และทานวิตามิน B เพื่อบำรุงระบบประสาท เรื่องราวนี้หากท่านผู้อ่านเกิดเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นมา เมื่อไปพบแพทย์ก็จะสามารถรักษาได้ง่ายครับ

แต่อาการเวียนหัวชนิด dizziness ถึงแม้ไม่รุนแรงนัก แต่กลับรักษายากกว่า เป็นเรื้อรังกว่า และหากว่ากินยาแก้เวียนหัวที่กล่าวมาข้างต้นเข้าไปจะกลายเป็นรักษาผิดทาง อาจทำให้อาการเป็นมากและไม่ยอมหายสักที

สมมติฐานของอาการมึนศีรษะ dizziness นี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคโดยองค์รวมของร่างกาย มากกว่าโรคเฉพาะจุดที่ศีรษะ ผมยกตัวอย่างเช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง เครียด เลือดจาง กล้ามเนื้อเกร็งตัวเมื่อยล้า ทำงานในตึกสูง (sick building syndrome) โรค office syndrome โรคนอนไม่หลับ หรือ ไม่มีเวลานอนให้เพียงพอ
สำหรับสมมติฐานที่เกิดจากโรคเฉพาะจุดก็เช่น สายตาสั้นยาว กระดูกคอเสื่อม


ที่ผมพบบ่อยและก็เจอข้อผิดพลาดในการรักษามากที่สุดก็คือ
กลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง แล้วมาแสดงอาการออกไปทางเวียนหัว เวลาที่เราใช้ยาแก้เวียนหัวกิน ก็มักจะยิ่งทำให้ง่วง ยิ่งทำให้เพลียมากขึ้นไปอีก เมื่อคนไข้ได้ยากลุ่มนี้เข้าไปก็จะยิ่งเวียนหัว บางครั้งคนไข้ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อ นั่นก็ทำให้ง่วงเช่นเดียวกัน

คำถามสำคัญก็คือ "นอนหลับดีหรือไม่?"
ถ้าคนไข้นอนไม่หลับ เราก็จะชวนให้ลองทดสอบสมมติฐานของการนอนก่อน โดยให้ใช้ยานอนหลับชนิดที่อ่อนที่สุด เพื่อช่วยให้เขานอนหลับให้ดีๆ แล้วติดตามดูว่าการเวียนหัว ดีขึ้นหรือไม่?

ในบางรายน่าเห็นใจกว่าก็คือ นอนหลับดี แต่ไม่มีเวลานอนเลย (นอนไม่พอ) ถ้าเป็นในกลุ่มนี้เราก็จะแนะนำให้ลองกินวิตามินเพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น จำพวกวิตามิน B วิตามิน C ไปจนถึง Co-enzyme Q10

บางรายคิดว่านอนพอ คือนอนได้เป็น 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ค่อยพอสักที พอตอนกลางวันก็เพลียใหม่ เราต้องติดตามโรคหยุดหายใจในขณะหลับ แล้วก็แนะนำให้คิดถึง battery โทรศัพท์ที่มันเสื่อมสภาพ แม้ว่าคนไข้จะนอนเป็นเวลานาน เปรียบเหมือนชาร์ตไฟ 10 ชั่วโมง แต่พอใช้ไปได้ครึ่งวัน แบตเตอรี่ก็หมดอยู่ดี
ดังนั้นภาวะแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ เพราะนอนเท่าไรก็ไม่พอ เราจะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกาย โดยเน้นแบบ aerobic เป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที การออกกำลังกายแบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เหมือนกับการได้แบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนอีกครั้ง

การหายใจก็มีความสำคัญสำหรับโรคเวียนหัว บางครั้งเราหายใจไม่เพียงพอ รับออกซิเจนน้อยเกินไป การฝึกให้หายใจลึกๆ ก็มีความสำคัญ การอยู่ในห้องที่บรรยากาศถ่ายเทสะดวกก็ช่วยได้

ความอ่อนเพลียสำหรับสังคมปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการใช้งานหนัก แต่เป็นจากความเครียดเป็นสำคัญ บางครั้งแม้เราไม่ได้ทำงานหนักอะไรเลยทั้งวันแต่ก็รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก นั่นเป็นเพราะงานที่ใช้ความคิดความเครียดจึงเกิดขึ้นตามมาโดยไม่รู้ตัว เราต้องแนะนำให้บริหารความเครียดให้ได้ก่อน

บางครั้งการเวียนหัวเกิดจากเรื่องทีมองข้ามกันไปเช่น อดข้าวมา เลยอ่อนเพลีย ก็คงต้องดูด้วยว่าเวียนหัวจากการอดอาหารหรือเปล่า?

เวียนหัวที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคอ ตัวผมเองเคยศึกษาเรื่องการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เวียนหัวได้อย่างไร จริงๆแล้วเส้นประสาทในกล้ามเนื้อที่ตึงตัวจะส่งกระแสประสาทขึ้นไปรบกวนสมองให้เกิดอาการเวียนหัวขึ้นได้ แต่เราอธิบายง่ายๆก็คือ ลมปราณติดขัดอยู่ที่กล้ามเนื้อคอ ทำให้เกิดอาการเวียนหัว กล้ามเนื้อรอบคอ กล้ามเนื้อข้างคอ กล้ามเนื้อท้ายทอย ไปจนถึงกล้ามเนื้อบ่าสองข้าง พวกนี้หากว่าตึงตัวแล้วจะทำให้เกิดการเวียนหัวขึ้นได้ การรักษาก็นวดคลายกล้าม คอยหมั่นยืดเหยียดกล้าม ก็จะช่วยได้ แต่ก็ต้องคอยทำอยู่เสมอ นั่งให้ตัวตรง เพราะโรคนี้มักกลับมาตึงตัวซ้ำอยู่บ่อยๆ

ที่กล่าวมาเป็นความรู้เรื่องเวียนหัวอย่างคร่าวๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อสงสัยประการใดลองโพสต์ถามมาได้นะครับ ยินดีช่วยเหลือเสมอครับ

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

มีอาการเวียนหัวลองใช้ยาดมชุติมาตราช้อนทองสิใช้แล้วไม่มีอาการเวียนหัวบ่อยๆๆอีกแล้วสนใจไปดูได้ที่https://www.facebook.com/Chontongmongkonherb

Unknown กล่าวว่า...

สอบถามค่ะ ถ้าเวียนหัวมีอาการอาเจียนร่วม หันคอไปทางซ้ายไม่ได้ เพราะจะมีอาการบ้านหมุน สาเหตุเกิดจากอะไรค่ะ ต้องไปพบแพทย์ไหมค่ะ