วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหัว

เรื่องปวดหัวเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องเคยเป็น

พอพูดถึงเรื่องปวดหัวแล้วผมคิดถึงว่า
ปวดธรรมดาพอรำคาญหรือปวดมากทุรนทุรายต้องไปหาหมอที่ รพ.
เป็นเรื่องที่อยู่ในกระโหลกศีรษะ ตรวจเจออาการแสดงยาก
ส่วนใหญ่พวกหมอก็จะใช้วิธีซักประวัติกันเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อวินิจฉัยโรค

เราในฐานะคนธรรมดาๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนปวดอันตราย อันไหนพอรักษาเองได้
ส่วนใหญ่ถ้าปวดแล้วกินยา paracetamol 2 เม็ดหาย ก็ไม่ค่อยจะอันตรายเท่าไร
แต่ถ้ากินยาแล้วเท่าไรก็ไม่หายปวดสักที อันนี้น่าไปพบหมอ

อยากให้ทราบอาการเตือนว่าที่ปวดหัวนี้เป็นปวดหัวไม่ธรรมดา
- ปวดหัวจนอาเจียน
- ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
- คอแข็ง ก้มศีรษะลงไม่ได้
- ซึมลง หมดสติ
- ปวดมากอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อนเลย

เราแบ่งการปวดออกเป็นตามสาเหตุการปวด

ปวดศีรษะไมเกรน เป็นชื่อที่คนคุ้นหูกันดี แต่นำไปใช้ผิดเยอะ เพราะน้อยคนนักที่จะป่วยเป็นปวดไมเกรน เกิดจากเส้นเลือด+เส้นประสาทที่เลี้ยงสมองเกิดอาการปวดขึ้นมา และเหนี่ยวนำให้เส้นประสาทข้างเคียงปวดตามกันมาด้วย อาการปวดแบบนี้จะปวดมากสุดๆ ปวดจนต้องนอนนิ่งๆ ถ้าเจอเสียงดัง แสงสว่างมากๆ จะยิ่งปวดใหญ่เลย ปวดมากจนทำงานการไม่ได้ แต่ก็มีข้อดีคือ บทจะหาย ก็หายเป็นปลิดทิ้งไปเลย (ปวดมาก กับ ไม่ปวดเลย) พวกนี้จะปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจร บางครั้งปวดข้างเดียว บางครั้งก็ปวดทั้งสองข้างพร้อมๆกัน (ดังนั้น ปวดไมเกรนจึงไม่จำเป็นต้องปวดข้างเดียวเสมอไป) ก่อนปวดบางครั้งจะรู้สึกเห็นแสงวูบวาบ เห็นดาวเห็นเดือน ได้กลิ่นแปลกๆ รู้สึกสภาพแวดล้อมหดขยายผิดปกติ(aura) นำมาก่อน

ปวดจากเนื้อสมองเอง อันนี้รวมไปถึงเยื่อหุ้มสมอง และน้ำไขสันหลังที่มาหล่อเลี้ยงสมองด้วย อันนี้เป็นอะไรที่หลายคนกลัวกันมาก เพราะนึกไปว่าการปวดหัวของเราอาจจะเป็นโรคร้ายเหล่านี้ เดี๋ยวผมเล่าอาการของโรคในกลุ่มนี้ให้ฟังครับ จะได้สังเกตกันอย่างถูกต้อง
กลุ่มโรคที่น่ากังวลก็คือเลือดออกในสมอง เลือดออกที่เยื่อหุ้มสมอง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระแทก หรือ เส้นเลือดแตกจากความดัน ไขมันสูง โรคติดเชื้อเช่นติดเชื้อในสมอง ในน้ำไขสันหลัง ไปจนถึงโรคมะเร็งในสมองเป็นต้น ในโรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวมาก ปวดจนอาเจียน (ให้สังเกตว่าไม่ใช่อาเจียนแบบทารกแหวะนม แต่เป็นอาเจียนพุ่งเป็นลำ) มองเห็นภาพซ้อน สติเลอะเลือน ปวดหัวคอแข็งไปหมด ไม่สามารถก้มหัวลงได้ คางไม่ชิดหน้าอก หากไปตรวจความดันก็จะพบว่าความดันสูงขึ้นมาก 180-200 มิลลิเมตรปรอทเชียว

ปวดจากกล้ามเนื้อศีรษะตึงตัว คนเราทุกคนมีกล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อรอบๆศีรษะ บางครั้งเจ้ากล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดการเกร็งตัวขึ้นมาก็จะทำให้เรารู้สึกปวดหัวได้ พวกนี้อย่างที่ผมเรียนก็คือ สามารถหายได้ง่ายจากการกินยาพาราแก้ปวด หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อ เพียงแต่ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างเรื้อรัง เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเป็นใหม่อีกแล้ว สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวก็คือ "ความเครียดของร่างกายและจิตใจ"

โดยทั่วไปโรคเหล่านี้จะไม่เป็นตอนที่เราเพิ่งตื่นนอนใหม่ๆ เพราะว่าเป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่งผ่านการพักผ่อนมาเต็มที่ ไม่เครียด แต่จะไปปวดเอาตอนที่เริ่มทำงานหรือเผชิญความเครียดต่างๆบนท้องถนน บางครั้งการที่ปวดหลังจากตื่นนอนทันที จะชวนให้คิดถึง 3 อย่างคือ 1.นอนไม่พอ 2.กระดูกคอ กล้ามเนื้อคอมีปัญหากับที่นอน 3.มีการกรนหรือหยุดหายใจในขณะหลับ ทำให้ออกซิเจนไปสมองไม่ดีนัก

ความเครียดของร่างกายที่ทำให้เกิดการปวดหัวก็เช่น นอนไม่พอ กล้ามเนื้อคออยู่ในท่าเดิมนานๆ (หมอนสูงไป ต่ำไป นั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ) สายตาสั้นยาวไม่เหมาะสมกับแว่นตา อดอาหาร หิวจนเกินไป ทำงานในที่อากาศไม่ถ่ายเท

ความเครียดของจิตใจก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นเดียวกัน บางคนมองข้ามตรงนี้ไป โดยทั่วไปหากผู้ป่วยนอนไม่หลับแล้วปวดหัวร่วมด้วย หากได้รับยาช่วยให้หลับสบาย ก็มักจะหายปวดหัวไปได้ โดยไม่ต้องใช้ยาอื่น โดยทั่วไปความเครียดเกิดจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน เนื่องจากต้องทำอะไรเร็วๆ ต้องแก่งแย่งแข่งขัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเครียดตามมาได้ง่าย

ผมได้กล่าวถึงสาเหตุของเรื่องปวดหัวไว้ทั่วๆไป ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า มีสาเหตุจากหลายปัจจัย หากเป็นสาเหตุที่พอรักษา ปรับปรุงเองได้ ก็น่าจะลองทำดู เผื่อว่าโรคปวดหัวเรื้อรังนั้นจะหายไปครับ

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เวียนหัว

โรคเวียนหัวเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคมเมือง และสังคมสูงอายุในปัจจุบัน

เวียนหัวเป็นอาการที่คนไข้มาปรึกษาแพทย์ แต่สาเหตุที่เกิดเวียนหัวจริงๆแล้วนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงมากเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ในทางการแพทย์เราแบ่งอาการเวียนหัวออกเป็นสองกลุ่มคร่าวๆได้ดังนี้

1.เวียนหัวชนิดบ้านหมุน (vertigo) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำในหูไม่เท่ากัน" เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ระบบทรงตัวของร่างกาย เจ้าระบบทรงตัวนี้อยู่แถวๆบริเวณกกหูพอดี ดังนั้นจึงมีคำศัพท์ว่าน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดขึ้น  อาการนี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลันทันใด และทำให้ทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวหมุนเคว้งคว้าง อาการมักเป็นมากขึ้นหากขยับศีรษะไปในท่าใดท่าหนึ่ง ก้มเงย หันซ้ายขวาหรือเอียงคอ มักมีอาเจียนร่วมด้วย

2.เวียนหัวชนิดมึนๆศีรษะ (dizziness) ความรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก อาการเวียนจะไม่ถึงกับบ้านหมุนคว้าง แต่ออกจะเป็นไปในทางมึนงง ตัวลอยๆ หนักศีรษะปวดศีรษะ เหมือนคนจะหลับ เหมือนคนจะหน้ามืด สายตาอ่อนล้า เมื่อยตา

เนื่องจากการเวียนหัวเป็นความรู้สึกที่แสดงออกมา เราจึงต้องถามประวัติให้ละเอียดว่าผู้ป่วยเวียนหัวแบบไหนกันแน่ เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกต้องตามสาเหตุที่เป็น

แพทย์จะวัดความดันโลหิตเพื่อดูความรุนแรงของโรค หากเป็นโรคที่รุนแรง ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นมากฉับพลันทันที เช่น เลือดออกในสมอง พวกนี้ความดันจะสูงขึ้นไปถึง 180-200 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นการวัดความดันเป็นการกรองโรคออกไปขั้นที่หนึ่ง การส่องไฟเพื่อดูม่านตา ก็จะเป็นการกรองโรคอีกชั้นหนึ่ง หากรุนแรงก็รักษากับทางโรงพยาบาลไป

ผมจะเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เราสามารถรักษากันเองตามคลินิกหรือนอก รพ.

ถ้าให้เลือกความรุนแรง เวียนหัวชนิดบ้านหมุนย่อมรุนแรงกว่า แต่ปรากฏว่ามักจะสามารถรักษาได้ง่าย และหายขาดไปได้ด้วยยาแก้เวียนหัวที่มีอยู่ในท้องตลาด อาทิยาแก้เมารถเมาเรือ ยาเปิดให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ฯลฯ ร่างกายมนุษย์สามารถปรับสมดุลได้เอง อาการเวียนหัวบ้านหมุนก็จะหายไปได้ใน 1 สัปดาห์ แนะนำให้นอนพักผ่อนให้มาก และทานวิตามิน B เพื่อบำรุงระบบประสาท เรื่องราวนี้หากท่านผู้อ่านเกิดเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นมา เมื่อไปพบแพทย์ก็จะสามารถรักษาได้ง่ายครับ

แต่อาการเวียนหัวชนิด dizziness ถึงแม้ไม่รุนแรงนัก แต่กลับรักษายากกว่า เป็นเรื้อรังกว่า และหากว่ากินยาแก้เวียนหัวที่กล่าวมาข้างต้นเข้าไปจะกลายเป็นรักษาผิดทาง อาจทำให้อาการเป็นมากและไม่ยอมหายสักที

สมมติฐานของอาการมึนศีรษะ dizziness นี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคโดยองค์รวมของร่างกาย มากกว่าโรคเฉพาะจุดที่ศีรษะ ผมยกตัวอย่างเช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง เครียด เลือดจาง กล้ามเนื้อเกร็งตัวเมื่อยล้า ทำงานในตึกสูง (sick building syndrome) โรค office syndrome โรคนอนไม่หลับ หรือ ไม่มีเวลานอนให้เพียงพอ
สำหรับสมมติฐานที่เกิดจากโรคเฉพาะจุดก็เช่น สายตาสั้นยาว กระดูกคอเสื่อม


ที่ผมพบบ่อยและก็เจอข้อผิดพลาดในการรักษามากที่สุดก็คือ
กลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง แล้วมาแสดงอาการออกไปทางเวียนหัว เวลาที่เราใช้ยาแก้เวียนหัวกิน ก็มักจะยิ่งทำให้ง่วง ยิ่งทำให้เพลียมากขึ้นไปอีก เมื่อคนไข้ได้ยากลุ่มนี้เข้าไปก็จะยิ่งเวียนหัว บางครั้งคนไข้ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อ นั่นก็ทำให้ง่วงเช่นเดียวกัน

คำถามสำคัญก็คือ "นอนหลับดีหรือไม่?"
ถ้าคนไข้นอนไม่หลับ เราก็จะชวนให้ลองทดสอบสมมติฐานของการนอนก่อน โดยให้ใช้ยานอนหลับชนิดที่อ่อนที่สุด เพื่อช่วยให้เขานอนหลับให้ดีๆ แล้วติดตามดูว่าการเวียนหัว ดีขึ้นหรือไม่?

ในบางรายน่าเห็นใจกว่าก็คือ นอนหลับดี แต่ไม่มีเวลานอนเลย (นอนไม่พอ) ถ้าเป็นในกลุ่มนี้เราก็จะแนะนำให้ลองกินวิตามินเพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น จำพวกวิตามิน B วิตามิน C ไปจนถึง Co-enzyme Q10

บางรายคิดว่านอนพอ คือนอนได้เป็น 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ค่อยพอสักที พอตอนกลางวันก็เพลียใหม่ เราต้องติดตามโรคหยุดหายใจในขณะหลับ แล้วก็แนะนำให้คิดถึง battery โทรศัพท์ที่มันเสื่อมสภาพ แม้ว่าคนไข้จะนอนเป็นเวลานาน เปรียบเหมือนชาร์ตไฟ 10 ชั่วโมง แต่พอใช้ไปได้ครึ่งวัน แบตเตอรี่ก็หมดอยู่ดี
ดังนั้นภาวะแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ เพราะนอนเท่าไรก็ไม่พอ เราจะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกาย โดยเน้นแบบ aerobic เป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที การออกกำลังกายแบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เหมือนกับการได้แบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนอีกครั้ง

การหายใจก็มีความสำคัญสำหรับโรคเวียนหัว บางครั้งเราหายใจไม่เพียงพอ รับออกซิเจนน้อยเกินไป การฝึกให้หายใจลึกๆ ก็มีความสำคัญ การอยู่ในห้องที่บรรยากาศถ่ายเทสะดวกก็ช่วยได้

ความอ่อนเพลียสำหรับสังคมปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการใช้งานหนัก แต่เป็นจากความเครียดเป็นสำคัญ บางครั้งแม้เราไม่ได้ทำงานหนักอะไรเลยทั้งวันแต่ก็รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก นั่นเป็นเพราะงานที่ใช้ความคิดความเครียดจึงเกิดขึ้นตามมาโดยไม่รู้ตัว เราต้องแนะนำให้บริหารความเครียดให้ได้ก่อน

บางครั้งการเวียนหัวเกิดจากเรื่องทีมองข้ามกันไปเช่น อดข้าวมา เลยอ่อนเพลีย ก็คงต้องดูด้วยว่าเวียนหัวจากการอดอาหารหรือเปล่า?

เวียนหัวที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคอ ตัวผมเองเคยศึกษาเรื่องการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เวียนหัวได้อย่างไร จริงๆแล้วเส้นประสาทในกล้ามเนื้อที่ตึงตัวจะส่งกระแสประสาทขึ้นไปรบกวนสมองให้เกิดอาการเวียนหัวขึ้นได้ แต่เราอธิบายง่ายๆก็คือ ลมปราณติดขัดอยู่ที่กล้ามเนื้อคอ ทำให้เกิดอาการเวียนหัว กล้ามเนื้อรอบคอ กล้ามเนื้อข้างคอ กล้ามเนื้อท้ายทอย ไปจนถึงกล้ามเนื้อบ่าสองข้าง พวกนี้หากว่าตึงตัวแล้วจะทำให้เกิดการเวียนหัวขึ้นได้ การรักษาก็นวดคลายกล้าม คอยหมั่นยืดเหยียดกล้าม ก็จะช่วยได้ แต่ก็ต้องคอยทำอยู่เสมอ นั่งให้ตัวตรง เพราะโรคนี้มักกลับมาตึงตัวซ้ำอยู่บ่อยๆ

ที่กล่าวมาเป็นความรู้เรื่องเวียนหัวอย่างคร่าวๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อสงสัยประการใดลองโพสต์ถามมาได้นะครับ ยินดีช่วยเหลือเสมอครับ

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

hyperventilation syndrome กลุ่มอาการหายใจเกิน

หลายครั้งในการทำงานเป็นหมอ เราจะพบคนไข้มาแบบฉุกเฉินนอนเปลมาเลย มาด้วยอาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน มือเท้าชา มือเท้าจีบเกร็ง เหมือนจะเป็นลมหมดสติ (เกือบจะเป็นลม)

เมื่อตรวจร่างกายก็ไม่พบอะไรผิดปกติ สัญญาณชีพยังอยู่ในเกณฑ์ดี ความดันดี ที่น่าสนใจก็คือ มักจะหายใจเร็วมาก หายใจตั้ง 20 กว่าครั้งในหนึ่งนาที (คนปกติหายใจสักประมาณ 6-10 ครั้งต่อนาที) พอเราตรวจปอดก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่ไอ ไม่มีเสียงหอบหืด มีแต่อาการหายใจเร็ว


คนไข้ในกลุ่มนี้จะทุรนทุรายมาก
พวกหมอเราได้เรียนมา ก็จะทราบว่านี่เป็นอาการหายใจเร็วเกินไป hyperventilation syndrome ญาติมิตรพาส่ง รพ. น่ะถูกต้องแล้ว แต่เราจะแก้ไขอย่างไรให้หาย? ถึงแม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทิ้งไว้ให้เป็นไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น จากเดิมที่แค่ชามือ ชาเท้า ก็จะเปลี่ยนเป็นมือหงิก เท้าเกร็ง (เกร็งมากจริงๆนะครับ ไม่ได้แกล้ง และแกะยังไงก็ไม่ออก) คนไข้ยิ่งตกใจกลัว ก็จะยิ่งหายใจหอบถี่ขึ้น ทำให้อาการยิ่งเป็นมากขึ้น

กลไกการเกิดโรคนี้ที่ทำให้เกิดอาการมืดจีบเกร็ง

อาการที่กล่าวมา อาจทำให้ถึงกับหน้ามืด เวียนหัว หมดสติ และชักไปจริงๆ ก็ได้ ถ้าเราไม่รักษา

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาที่มีฤทธิระงับประสาท และทำให้นอนหลับ อาจเป็นกลุ่มยาฉีด (เพราะคนไข้เป็นมาก ไม่สามารถกลืนยาได้) หรือยากินก็ได้ เมื่อคนไข้ได้นอนพัก อาการก็จะหายไปได้เอง

สำหรับการปฐมพยาบาลกันเองนั้น เราแนะนำให้หายใจเข้าออกในถุง เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดขึ้นมาบ้าง อาการจีบเกร็งชา จะได้บรรเทาลง เมื่อพบว่าการรักษาแบบนี้ดีขึ้น คนไข้้ก็จะคลายความกลัวไป แล้วทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติ
ผมเองก็รู้จักโรคนี้พอสมควร ในมุมมองของจิต ปัญหามันเกิดจากความคิดของเรา ทำให้เกิดอาการทางกาย ยิ่งเป็นก็ยิ่งคิดยิ่งกังวล เกิดความกลัว พอหมอฉีดยานอนหลับให้หลับไป ก็เท่ากับไปตัดกระบวนการคิด ให้ร่างกายได้พักผ่อน โรคจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอื่นเลย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความคิด ว่าสามารถทำให้ร่างกายป่วยได้อย่างไร
เราไม่สามารถหยุดกระบวนการคิดซ้ำๆลงได้ เพราะมันหมุนแรงมาก คนที่มีพลังสติเยอะ จึงจะสามารถหยุดภาวะ hyperventilation syndrome ได้เอง (โดยทั่วไปก็คงไม่ปล่อยให้เป็นมากจนเกิดแบบนี้) การใช้ยานอนหลับเปรียบเสมือนการเข้าสมาธิให้จิตใจได้พักผ่อน ดังนั้นคนทั่วๆไปควรฝึกสมาธิเอาไว้ เพื่อเป็นการให้จิตได้พัก